1. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนคืออะไร
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน มาจากคำว่า CAI (Computer Assisted Instruction) หมายถึงวิถีทางของการสอนรายบุคคลโดยอาศัยความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะจัดหาประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กันมีการแสดงเนื้อหาตามลำดับที่ต่างกันด้วย บทเรียนโปรแกรมที่เตรียมไว้อย่างเหมาะสม คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงเป็นเครื่องมือช่วยส่วนอย่างหนึ่งที่ผู้เรียนจะตอบคำถาม ทางแป้นพิมพ์แสดงออกมาทางจอภาพ มีทั้งรูปภาพและตัวหนังสือหรือบางทีอาจใช้ร่วมกันกับ อุปกรณ์อย่างอื่นด้วย เช่น สไลด์ เทปวิดีทัศน์ เป็นต้น
2. ลักษณะสำคัญของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีลักษณะการเรียนที่เป็นขั้นตอน ดังนี้
2.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน จะเริ่มตั้งแต่การทักทายผู้เรียน บอกวิธีการเรียน และบอกจุดประสงค์ของการเรียน เพื่อที่จะให้ผู้เรียนได้ทราบว่า เมื่อเรียนจบบทเรียนนี้แล้วเขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถเสนอวิธีการในรูปแบบที่น่าสนใจได้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภาพเคลื่อนไหว เสียงหรือผสมผสานหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน ให้มุ่งความสนใจเข้าสู่บทเรียนบางโปรแกรมอาจจะมีแบบทดสอบวัดความพร้อมของผู้เรียนก่อน หรือมีรายการ เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความสนใจ และผู้เรียนสามารถจัดลำดับรายการเรียนก่อนหลังได้ด้วยตนเอง2.2 ขั้นการเสนอเนื้อหา เมื่อผู้เรียนเลือกเรียนในเรื่องใดแล้ว คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะเสนอเนื้อหาออกมาเป็นกรอบ ๆ ในรูปแบบที่เป็น ตัวอักษร ภาพ เสียง ภาพกราฟิก และภาพเคลื่อนไหว เพื่อเร้าความสนใจในการเรียน และสร้างความเข้าใจในความคิดรวบยอดต่าง ๆ แต่ละกรอบ หรือเสนอเนื้อหาเรียงลำดับไปทีละอย่างทีละประเด็น โดยเริ่มจากง่ายไปหายาก ผู้เรียนจะควบคุมความเร็วในการเรียนด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้ได้เรียนรู้มากที่สุด ตามความสามารถ และมีการชี้แนะหรือการจัดเนื้อหาสำหรับการช่วยเหลือผู้เรียนให้เกิดการเรียนที่ดีขึ้น2.3 ขั้นคำถามและคำตอบ หลังจากเสนอเนื้อหาของบทเรียนไปแล้ว เพื่อที่จะวัดผู้เรียนว่ามีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมาแล้วเพียงใดก็จะมีการทบทวนโดยการให้ทำแบบฝึกหัด และช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญ เช่น ให้ทำแบบฝึกหัดชนิดคำถาม แบบเลือกตอบ แบบถูกผิด แบบจับคู่ และแบบเติมคำ เป็นต้น ซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถเสนอแบบฝึกหัดแก่ผู้เรียนได้น่าสนใจมากกว่าแบบทดสอบธรรมดา และผู้เรียนตอบคำถามผ่านทางแป้นพิมพ์หรือเมาส์ นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนยังสามารถจับเวลาในการตอบคำถามของผู้เรียนได้ด้วย ถ้าผู้เรียนไม่สามารถตอบคำถามได้ในเวลาที่กำหนดไว้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะเสนอความช่วยเหลือให้2.4 ขั้นการตรวจคำตอบ เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้รับคำตอบจากผู้เรียนแล้ว คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะตรวจคำตอบและแจ้งผลให้ผู้เรียนได้ทราบ การแจ้งอาจแจ้งเป็นแบบข้อความ กราฟิกหรือเสียง ถ้าผู้เรียนตอบถูกก็จะได้รับการเสริมแรง (Reinforcement) เช่น การให้คำชมเชย เสียงเพลง หรือให้ภาพกราฟิกสวย ๆ และถ้าผู้เรียนตอบผิด คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะบอกใบ้ให้หรือให้การซ่อมเสริมเนื้อหาแล้วให้คำถามนั้นใหม่ เมื่อตอบได้ถูกต้องจึงก้าวไปสู่หัวเรื่องใหม่ต่อไป ซึ่งจะหมุนเวียนเป็นวงจรอยู่จนกว่าจะหมดบทเรียนในหน่วยนั้น ๆ2.5 ขั้นของการปิดบทเรียน เมื่อผู้เรียนเรียนจบบทเรียนแล้ว คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะทำการประเมินผลของผู้เรียนโดยการทำแบบทดสอบ ซึ่งจุดเด่นของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ สามารถสุ่มข้อสอบออกมาจากคลังข้อสอบที่ได้สร้างเก็บไว้และเสนอให้ผู้เรียนแต่ละคนโดยที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถจดจำคำตอบจากการทำในครั้งแรก ๆ นั้นได้หรือแบบไปรู้คำตอบนั้นมาก่อนเอามาใช้ประโยชน์ เมื่อทำแบบทดสอบนั้นเสร็จแล้ว ผู้เรียนจะได้รับทราบคะแนนการทำแบบทดสอบของตนเองว่าผ่านตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรกและคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จะบอกเวลาที่ใช้ในการเรียนในหน่วยนั้น ๆ ได้ด้วยเป็นต้น
3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนส่วนใหญ่เป็นคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทใด เพราะเหตุใดจึงนิยม
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนส่วนใหญ่จะมาในลักษณะของ บทเรียน (Tutorial) เพราะลักษณะของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาในลักษณะของบทเรียนโปรแกรม ที่เสนอเนื้อหาความรู้เป็นส่วนย่อย ๆ เป็นการเรียนแบบการสอนของครู คือ จะมีบทนำ คำอธิบาย ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎี กฎเกณฑ์ คำอธิบาย และแนวคิดที่จะสอนในรูปแบบของข้อความ ภาพและเสียงหรือทุกแบบรวมกัน หลังจากที่ผู้เรียนได้ศึกษาแล้วก็จะมีคำถามเพื่อใช้ในการตรวจสอบ ความเข้าใจของผู้เรียน มีการแสดงผลย้อนกลับ ตลอดจนมีการเสริมแรงสามารถให้ผู้เรียนย้อนกลับไปเรียนบทเรียนเดิม หรือข้ามบทเรียนที่ผู้เรียนรู้แล้วไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกผลว่าผู้เรียนทำได้เพียงไร อย่างไร เพื่อให้ครูผู้สอนมีข้อมูลในการเสริมความรู้ให้กับผู้เรียนบางคนได้ หรือผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสามารถของตนเอง โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงเป็นที่นิยม
4. ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบใดที่สอดคล้องกับแนวคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม เพราะเหตุใด
ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สอดคล้องกับแนวคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยมคือ การฝึกทักษะและปฏิบัติ (Drill and Practice) เพราะการฝึกทักษะและปฏิบัติจะใช้เสริมการสอน เมื่อครูหรือผู้สอนได้สอนบทเรียนบางอย่างไปแล้ว และให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดจากคอมพิวเตอร์เป็นการวัด ความเข้าใจ ทบทวนและช่วยเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญ ลักษณะแบบฝึกหัดที่นิยมกันมากคือ การจับคู่ชี้ว่า ถูกผิด และเลือกข้อถูกจาก 3 -5 ตัวเลือก การใช้ไมโครคอมพิวเตอร์เพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก หากโปรแกรมที่ใช้มีประสิทธิภาพดี โปรแกรมในด้านการฝึกทักษะและปฏิบัติไม่ได้ช่วยผู้เรียนเฉพาะในด้านความจำเพียงด้านเดียวแต่ยังช่วยผู้เรียนให้รู้จักคิดด้วย เพราะคอมพิวเตอร์มักจะเป็นฝ่ายป้อนคำถามให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายตอบอยู่เสมอทฤษฎีการเรียน แนวพฤติกรรมนิยมนำมาใช้ในการออกแบบและพัฒนาบทเรียนดังนี้
· Contiguity: การให้ผลย้อนกลับทันทีที่ผู้เรียนตอบสนองต่อ สิ่งเร้าจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้
· Repetition: การที่ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนเนื้อหาบทเรียน หลายๆครั้ง หรือการได้ฝึกปฏิบัติบ่อยๆ จะช่วยส่งเสริมให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความคงทนในการจำดียิ่งขึ้น
· Feedback : การให้ผลย้อนกลับแก่ผู้เรียนทันทีที่ผู้เรียนตอบสนองต่อสิ่งเร้าเป็นปัจจัยสำคัญ ผลย้อนกลับนำเสนอผล การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของผู้เรียนว่ามีความถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การให้ผลย้อนกลับแบบทันทีทันใดไม่อาจทำได้หรือทำได้ยาก ในชั้นเรียนปกติ แต่ด้วยการที่คอมพิวเตอร์สามารถประเมินผล การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของผู้เรียนรายบุคคลได้ ทำให้สามารถนำเสนอผลย้อนกลับได้ทันทีทันใด ซึ่งผลย้อนกลับนี้เป็นส่วน ประกอบที่ทำให้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีคุณค่าและได้เปรียบสื่อการสอนประเภทอื่นๆ
5. คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีส่วนช่วยในการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไรบ้าง
การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีสาระสำคัญ 7 ด้าน คือ
1) ด้านความเสมอภาคของโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2) ด้านคุณภาพมาตรฐานการศึกษา
3) ด้านระบบบริหารและสนับสนุนทางการศึกษา
4) ด้านครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
5) ด้านหลักสูตร
6) ด้านกระบวนการเรียนรู้
7) ด้านทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา
การศึกษาที่แท้จริง คือ การพัฒนาปัญญาของตนเองให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นและความถูกต้อง ความดีงาม ที่จะเกื้อกูลแก่ตนเองและครอบครัว พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ในหมวดที่ 4 ว่า ด้วยแนวการจัดการศึกษา โดยมีสาระสำคัญสอดคล้องกับการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนดังนี้
- การจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพราะการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง คนที่เรียนอ่อนก็ศึกษาเนื้อหาไปแบบช้าๆ แต่ถ้านักเรียนที่มีความสามารถก็สามารถเรียนโดยใช้ระยะเวลาเพียงน้อยนิด และถ้าผู้เรียนคนใดต้องการศึกษาเนื้อหาตามที่ตัวเองสนใจก็สามารถเลือกเรียนได้ โดยไม่ต้องพึ่งครูผู้สอนหรือเพื่อน ต้องการเรียนเนื้อหาใด เมื่อใด ก็สามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัดและความสนใจ (Anywhere Anytime Learning)
- ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต โดยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้เข้ามาช่วยในส่วนของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องมีความหลากหลาย ครอบคลุมช่องทางรับรู้ของบุคคล เพราะสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สร้างขึ้นมา มักจะเป็นสื่อมัลติมีเดีย ที่มีทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว แล้วแต่ลักษณะการออกแบบ กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะเรียน และการเรียนรู้นั้นก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความถนัดของบุคคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น